วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การปลูกถั่วลิสงหลังนา

                                                                               ปลูกถั่วลิสงหลังนา เสริมรายได้

          ถั่วลิสงเป็นพืชน้ำมันที่มีอายุสั้น  ใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ   เมล็ดใช้บริโภคโดยตรงในรูปถั่วต้ม ถั่วคั่ว ถั่วอบ ถั่วทอด  หรือทำขนมต่างๆ
และยังนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ   เช่น เนยถั่วลิสง หรือสกัดน้ำมันพืชสำหรับปรุงอาหาร     กากถั่วลิสงที่สกัดน้ำมันแล้วสามารถนำไปทำเป็น
อาหารสัตว์ ต้นถั่วลิสงที่ปลิดฝักแล้วสามารถนำไปเลี้ยงสัตว์หรือไถกลบ เป็นปุ๋ยบำรุงดินได้  สำหรับประเทศไทย การปลูกถั่วลิสงไม่ได้ปลูกเป็นพืช
หลัก และความสำคัญทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย   แต่ถั่วลิสงสามารถปลูกเป็นพืชรองทั้งสภาพไร่ และสภาพนาเพื่อเสริมรายได้ให้เกษตรกรได้อีก
ทางหนึ่ง




           การปลูกถั่วลิสงฤดูแล้ง หลังการทำนา มีการปลูก 2 สภาพ  คือ ถ้าปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทาน ปลูกในเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม
เก็บเกี่ยวเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม   ส่วนถ้าเป็นการปลูกโดยอาศัยความชื้นที่เหลือในดิน   ปลูกในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม   เก็บเกี่ยวเดือน
กุมภาพันธ์ถึงเมษายน

          การเตรียมดิน ไถ 1 ครั้ง ลึก 10 - 20 เซนติเมตร ตากดิน 7 - 10 วัน ไถพรวน 1 ครั้ง  การปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทานควรยกร่องปลูกเพื่อ
ความสะดวกในการให้น้ำ ถ้าเป็นการปลูกโดยอาศัยความชื้นที่เหลือในดินและไม่มีการให้น้ำ เงื่อนไขคือต้องมีระดับน้ัำใต้ดินอยู่ตื้น ปริมาณเพียงพอ
ต่อการเจริญเติบโตตลอดอายุ การเตรียมดินควาทำหลายครั้ง เพื่อให้หน้าดินละเอียด ลดการระเหยน้ำจากดิน

           วิธีปลูก  ปลูกด้วยเมล็ดที่มีความงอกมากกว่า 75% อัตราปลูก 17 - 18 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะปลูก 50X20 เซนติเมตร จำนวน 2 -3 เมล็ดต่อ
หลุม หลุมลึก 10 เซนติเมตร จะได้ 32,000 - 48,000 ต้นต่อไร่




           การกำจัดวัชพืช  ต้องไม่รบกวนถั่วลิสงโดยเฉพาะในช่วง 1 เดือนแรก กำจัดวัชพืชด้วยแรงงานคน 1 - 2 ครั้ง เมื่ออายุ 15 - 20 วันหลังงอก
หรือหากใช้สารกำจัดวัชพืชต้องใช้ในอัตราที่แนะนำ คือใช้อะลาคลอร์  หรือเมโทลาคลอร์ อัตรา 300 - 320 กรัม    สารออกฤทธิ์ต่อไร่  พ่นคลุมดิน
หลังปลูกก่อนถั่วลิสงและวัชพืชงอก ขณะพ่นดินต้องมีความชื้น

           การใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 16-16-8 อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือโรยข้างแถวและพรวนดินกลบ ใส่
ปุ๋ยหลังงอก 15 - 20 วัน

           โรคและแมลง คือโรคโคนเน่า หรือโคนเน่าขาด     การป้องกันกำจัดโรคใช้สารไอโปรไดโอน (50% WP) และเมธาแลกซิล + แมนโคเซบ
72% WP   คลุกเมล็ด อัตรา 2.8 และ 2.0 กรัม   สารออกฤทธิ์ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม      โดยทั่วไปไม่ค่อยพบแมลงศัตรูทำลายแปลงถั่วลิสงมากนัก
แมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ หนอนชอนใบถั่วลิสง เพลี่ยอ่อนถั่ว เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่น และเสี้ยนดิน พบระบาดรุนแรงในสภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนทั้ง
ช่วงนานเกิน 15 วัน การป้องกันกำจัดหนอนชอนใบถั่วลิสง พ่นไตรอะโซฟอส (40% EC) อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เพลี้ยอ่อนถั่ว เพลี้ยไฟ
และเพลี้ยจักจั่น การป้องกันกำจัดใช้สารคาร์โบซัลแฟน 20% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออะซีเฟต 75% WP 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
ส่วนดินใช้คาร์แทป 4% G อัตรา 4 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ 2 ครั้ง โรยพร้อมปลูก  และเมื่อถั่วลิสงอายุ 30 - 35 วัน    โดยโรยห่างโคนต้น 10 เซนติเมตร
แล้่วกลบโคน หรือคลอไพริฟอส 5% G อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ 2 ครั้ง โดยพร้อมปลูก และระยะถั่วแทงเข็ม  โดยโรยห่างโคนต้น 10 เซนติเมตร
แล้วกลบโคน เก็บเกี่ยวถั่วลิสงตามอายุของพันธุ์ที่ปลูก หรือสีของเปลือกฝักด้านในเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

           จังหวัดอุบลราชธานี  มีพื้นที่ปลูกข้าว 3,334,240 ไร่    มีเกษตรกรหลายอำเภอยังคงมีการปลูกถั่วลิสงเพื่อเสริมรายได้ให้กับครอบครัวหลัง
เก็บเกี่ยวข้าว มีการปลูกมากในเขตอำเภอเขื่องใน ตาลสุม ดอนมดแดง เดชอุดม และทุ่งศรีอุดม   เป็นการปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทาน บ่อบาดาล
หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ปี 2552/53 มีพื้นที่ปลูกถั่วลิสง 4,852 ไร่    ผลผลิตเฉลี่ย 310 กิโลกรัมต่อไร่ ฤดูกาลเพาะปลูก 2553/54 พื้นที่ปลูกถั่วลิสง
หลังนา ลดลงจากปี 2552/53 เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยข้าวนาปรัง   แต่อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรที่ยังคงยึดอาชีพการปลูกถั่วลิสงหลังนาเพื่อเสริม
รายได้ อย่างเช่น นายสมเดช  มหาโยธี เกษตรกรบ้านป่าหวาย ตำบลป่าโมง อำเภอเดชอุดม    ได้ปลูกถั่วลิสงหลังนามากกว่า 10 ปี พื้นที่ 2 - 3 ไร่
อาศัยน้ำโดยใช้เครื่องสูบน้ำจากห้วยสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน หลังเก็บเกี่ยวข้าว    จะเริ่มไถเตรียงแปลงตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ปลูกถั่ว
ลิสงต้นเดือนธันวาคม จะทยอยปลูกทีละ 2 - 3 กระทงนา ใช้แรงงานภายในครัวเรือน และมีการจ้างแรงงานในช่วงเก็บเกี่ยว (ปลิดฝัก) เท่านั้น ผลิต
ถั่วลิสงจำน่ายทั้งฝักสดและฝักแห้ง   โดยมีพ่อค้าจากอำเภอเดชอุดมมารับซื้อผลผลิตในแปลงปี 2553/54 ฝักสดจำหน่ายได้ราคา 15 - 20 บาทต่อ
กิโลกรัม ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ส่วนฝักแห้งจำหน่ายได้ราคา 30 -35 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม





           เกษตรกรบ้านโนนเจริญ  ตำบลนาคาย  อำเภอตาลสุม ปลูกถั่วลิสงโดยอาศัยน้ำจากคลองชลประทาน มีพื้นที่ปลูกตั้งแต่ 1-2 งาน บางราย
1-2 ไร่ จำหน่ายในรูปฝักแห้ง   มีพ่อค้ามารับซื้อผลผลิตในหมู่บ้านช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม บางรายนำไปจำหน่ายเองในจังหวัดอุบลราชธานี
ขายได้ราคา 22 - 25 บาทต่อกิโลกรัม และบ้านโอด ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง

           การปลูกถั่วลิสงอยู่บริเวณคลองส่งน้ำ  ผู้ปลูกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครือญาติ พื้นที่ปลูกมีตั้งแต่ 1 งาน  จนถึง 1 - 2 ไร่  ผลิตในรูปฝักแห้งและ
นำไปจำหน่ายเองในจังหวัดอุบลราชธานี ราคา 22 -25 บาทต่อกิโลกรัม

           บ้านนาห่อม อำเภอทุ่งศรีอุดม ปลูกโดยอาศัยบ่อน้ำบาดาล  ผลิตในรูปฝักแห้ง จำหน่ายได้ราคา 25 -30 บาทต่อกิโลกรัม  มีพ่อค้ามารับซื้อ
ผลผลิตในหมู่บ้านช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

           อำเภอเขื่องใน เป็นแหล่งปลูกถั่วลิสงแหล่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี  ครอบคลุม 3 ตำบล    ได้แก่ บ้านโพนทอง ตำบลบ้านไทย มีการ
ปลูกมากที่สุด เฉลี่ยแล้วรายละ 1-2 ไร่  กระจายอยู่บริเวณคลองส่งน้ำชลประทาน การจำหน่ายผลผลิต มีทั้งในรูปฝักสด ราคา 25 บาทต่อกิโลกรัม
วางขายริมถนนภายในหมู่บ้าน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมและเก็บเกี่ยวเพื่อขายฝักแห้งช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม มีเกษตรกร 5 - 10 ราย
ปลูกถั่วลิสงฤดูฝนในที่ดอนเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกฤดูแล้ง แต่พื้นที่ปลูกค่อนข้างหายาก



           ส่วนที่บ้านค้อทอง ตำบลค้อทอง การปลูกฤดูแล้งอยู่บริเวณคลองส่งน้ำชลประทาน ผลิตฝักแห้งเพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ หรือเก็บเมล็ดพันธุ์
ไว้ปลูกเองฤดูแล้ง โดยปลูกในที่ดอนหรือปลูกแซมในสวนยางพาราอายุ 1 - 2 ปี มีทั้งเป็นที่ของตนเองและเช่าพื้นที่ปลูก

           ส่วนในเขตบ้านวังอ้อ และบ้านวังถ้ำ ตำบลหัวดอน  ผลิตถั่วลิสงฝักแห้ง พื้นที่ปลูกมีตั้งแต่ 2 งาน ถึง 2 ไร่     กระจายอยู่บริเวณคลองส่งน้ำ
ชลประทาน การจำหน่ายผลผลิตมีพ่อค้ามารับซื้อผลผลิตในหมู่บ้านช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ราคา 22 - 25 บาทต่อกิโลกรัม

           การผลิตถั่วลิสงฤดูแล้งในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์ไทนาน 9 วิธีปลูกไถเตรียมดิน 1 - 2 ครั้ง  ยกร่องปลูก  ระยะระหว่าง
แถว 20 -50 เซนติเมตร ระยะรหว่างต้น 10 -20 เซนติเมตร  หลังปลูกพ่นสารป้องกันกำจัดวัชพืชอะลาคลอร์ และกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานคน 1 ครั้ง
เมื่ออายุ 30 - 40 วัน ใส่ปุ๋ยเคมี 1 ครั้ง อัตรา 15 - 100 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อถั่วลิสงอายุ 20 - 50 วัน มีการใช้สารป้องกันโรคแมลงศัตรูบ้างเมื่อมีการ
ระบาด   การเก็บเกี่ยวจะเริ่มปลายมีนาคมถึงเมษายน     ผลผลิตตั้งแต่ 250 - 450 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ มีราคา
ตั้งแต่ 30 - 80 บาทต่อกิโลกรัม และการเก็บเกี่ยวมีการจ้างแรงงาน (ถอนและปลิดฝัก)   ต้นทุนการผลิตอยู่ระหว่าง 1,965 - 7,516 บาทต่อไร่ ราย
ได้สุทธิ 501 - 11,300 บาทต่อไร่




           ในปี 2554/55 พื้นที่ปลูกถั่วลิสงลดลงมาเมื่อเทียบจากปี 2553/54  ทำให้ผลผลิตมีน้อย และมีพ่อค้าจากต่างจังหวัดมารับซื้อผลผลิตถึงใน
แปลง ไม่กดราคาและตำหนิผลผลิตของเกษตรกรมาก สำหรับเกษตรกรที่ปลูกถั่วลิสงมามากกว่า 5 - 10 ปี   ก็ยังคงยึดอาชีพปลูกถั่วลิสงเพื่อเสริม
รายได้หลังฤดูกาลทำนา ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคทำให้กระทบต่อพื้นที่ปลูกซื้อจะลดลงบ้างก็ตาม

 ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก :  http://it.doa.go.th/pibai/pibai/n15/v_4-may/korkui.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น